วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับตนเองและครอบครัว

กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับตนเองและครอบครัว
กฎหมายแพ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับเอกชนหรือคนแต่ละคน ทั้งเมื่อยู่ตามลำพัง และเมื่อติดต่อกับผู้อื่น ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาของกฎหมายแพ่งของไทย ซึ่งมีรวบรวมไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่ามีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องของบุคคล ครอบครัว ทรัพย์สิน นิติกรรม และสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน
เมื่อเราเกิดมาเป็นคนแล้วย่อมจะต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายแพ่งทั้งสิ้น อย่างน้อยก็จะต้องอาศัยกฎหมายแพ่งรับรองให้เรามีฐานะเป็นบุคคล ใช้ในการหาทรัพย์สินอันเป็นปัจจัยในการดำรงชีพ หากจะแลกเปลี่ยนทรัพย์สินหรือทำกิจการต่างๆ กับผู้อื่นก็ต้องอาศัยกฎหมายแพ่งเรื่องนิติกรรมและสัญญา เพื่อสร้างความผูกพันให้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ระหว่างกัน หากได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้อื่น ก็ต้องใช้กฎหมายแพ่งในบทที่ว่า ด้วยการละเมิดสิทธิ เพื่อช่วยให้เราได้รับชดเชยความเสียหายนั้น เมื่อจะมีครอบครัวก็ต้องอาศัยกฎหมายแพ่งที่ว่าด้วยครอบครัว ในการก่อตั้งและกำหนดความสัมพันธ์ ภายในครอบครัว จนเมื่อเราจะตายก็อาจใช้ กฎหมายแพ่งที่ว่าด้วย เรื่องมรดก ช่วยกำหนดว่าทรัพย์สินที่เราหามาได้ระหว่างมีชีวิตอยู่นั้น จะให้ตกเป็นมรดกแก่ทายาทของเราได้อย่างไรบ้างอีกด้วย ดังนั้น กฎหมายแพ่งจึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในสังคมของเราอย่างยิ่ง
กฎหมายที่เกี่ยวกับบุคคล ได้แก่ กฎหมายที่รับรองให้เรามีสภาพบุคคล คือ ให้เราเป็นผู้สามารถมีและสามารถใช้สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆตามกฎหมายได้ สภาพบุคคลเริ่มตั้งแต่เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้วอยู้รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดายังไม่มีฐานะเป็นบุคคล แต่กฎหมายจะคุ้มครองเป็นพิเศษ ผู้ใดทำลายย่อมมีความผิดฐานทำให้แท้งลูก

กฎหมายจำแนกบุคคลเป็น ๒ พวก คือ มนุษย์ ที่เรียกว่าบุคคลธรรมดา อีกพวกหนึ่งเป็นกิจการที่จัดตั้งขึ้นและกฎหมายยอมให้มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบบางอย่างในนามของกิจการนั้นเองได้ เช่น กระทรวง กรม องค์การมหาชน บริษัท สมาคม สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร มูลนิธิ เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า นิติบุคคล
บุคคลธรรมดา ได้แก่ มนุษย์ที่คลอดจากครรภ์มารดาแล้วอยู่รอดเป็นทารก โดยจะต้องมีการแจ้งจดทะเบียนการเกิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งกำหนดว่าถ้าเด็กเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้าน หรือ บิดาหรือมารดา ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ภายในสิบห้าวันตั้งแต่เกิด และสภาพบุคคลจะสิ้นสุดลงเมื่อตาย
นิติบุคคล ได้แก่ บุคคลที่กฎหมายบัญญัติรับรองให้มีสภาพเป็นบุคคลได้ แม้ไม่ใช่มนุษย์ เช่น กระทรวง กรม
องค์การมหาชน บริษัท สมาคม สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กองทรัพย์สิน เช่น มูลนิธิ เป็นต้น
๓.๑ กฎหมายที่เกี่ยวกับตนเอง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองที่สำคัญ มีดังนี้
๑) กฎหมายเรื่องบุคคล ที่สำคัญ ได้แก่
๑.๑ ) การกำหนดตัวบุคคล เนื่องจากบุคคลในรัฐมีจำนวนมาก กฎหมายจึงมีวิธีกำหนดตัวบุคคลเพื่อให้ชัดเจนว่าใครเป็นใคร และมีบทบาททางกฎหมายในสังคมได้เพียงใด ซึ่งสิ่งที่กฎหมายใช้กำหนดตัวบุคคล ได้แก่ ชื่อบุคคล ภูมิลำเนา สถานะ และความสามารถ
(๑) ชือบุคคล ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕0๕ กำหนดให้บุคคลธรรมดามีชื่อตัว คือ ชื่อประจำตน และชื่อสกุล คือ ชื่อ ประจำวงศ์สกุล ชื่อตัวจะต้องแจ้งต่อ นายทะเบียนท้องที่ ซึ่งปกติจะประจำอยู่ที่ที่ว่าการอำเภอหรือเขต หรือ แจ้งแก่กำนันผู้ใหญ่บ้าน หากท้องที่อยู่นอกเขตเทศบาล โดยแจ้งพร้อมกับการแจ้งเกิดในแบบสูติบัตร การขอเปลี่ยนแปลงชื่อตัวและการขอเปลี่ยนชื่อสกุลก็จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่เช่นกัน
ชื่อบุคคลจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หากมีผู้อื่นโต้แย้งหรือ มาใช้ชื่อบุคคลเดียวกัน บุคคลเจ้าของชื่อสามารถบอกให้ผู้อื่นนั้นหยุดโต้แย้งหรือหยุดใช้ชื่อนั้นได้ ถ้าไม่เชื่อฟังก็ขอให้ศาลสั่งห้ามได้
(๒) ภูมิลำเนา ได้แก่ สถานที่ที่อยู่ประจำและแน่นอนของบุคคล เช่น บ้านที่เขาพักประจำมิใช่ที่อยู่ชั่วครั้งชั่วคราว เช่น บ้านพักตากอากาศ หรือโรงแรมที่เขาพักระหว่างเดินทาง ภูมิลำเนาทำให้สามารถติดต่อกับบุคคลได้ เช่น ในการส่งเอกสารทางราชการให้แก่ผู้นั้น เป็นต้น
ภูมิลำเนาย่อมปรากฎในทะเบียนบ้านและเปลี่ยนแปลงได้โดยการแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านหนึ่งและย้ายเข้าในอีกทะเบียนบ้านหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฏร พ.ศ. ๒๕๓๔ ทั้งนี้เพื่อให้มีหลักฐานแน่นอน และสามารถติดต่อกับผู้นั้นในภูมิลำเนาใหม่ได้
(๓) สถานะ ได้แก่ ความเป็นไปหรือความเป็นอยู่ของบุคคลทุกคน ซึ่งจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เช่น ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร
พ.ศ. ๒๕๓๔ และพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ เป็นต้น การรู้สถานะจะทำให้ทราบบทบาทของกันและกันได้ว่าแต่ละคนมีบทบาทเพียงใดในทางกฎหมาย สถานะบุคคล ได้แก่
๑. สถานะทางการเมือง ได้แก่ การเป็นบุคคลสัญชาติไทย กับการเป็นคนต่างด้าว ผู้มีสัญชาติไทยมีสิทธิเสรีภาพตลอดจนหน้าที่ของชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมทั้งสิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง สิทธิตั้งพรรคการเมือง สิทธิรับราชการ สิทธิที่จะไม่ถูกเนรเทศและหน้าที่รับราชการทหาร
สำหรับคนต่างด้าว คือ ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยย่อมไม่มีสิทธิ เสรีภาพและหน้าที่เช่นผู้มีสัญชาติไทย เว้นแต่โดยอาศัยสนธิสัญญาที่รัฐของคนต่างด้าวทำไว้กับประเทศไทย
๒. สถานะทางส่วนตัวและครอบครัว ได้แก่ การสมรส การเป็นบิดา มารดา บุตร การเป็นผู้เยาว์ การให้คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น ซึ่งทำให้บทบาททางกฎหมายของบุคคลเปลี่ยนแปลงไป เช่น การสมรส เพราะ การทำนิติกรรมสัญญาเกี่ยวกับสินสมรสจะทำไปตามลำพังไม่ได้ เป็นต้น
(๔) ความสามารถ หมายถึง สภาพของบุคคลที่จะมีหรือใช้สิทธิหน้าที่ตลอดจนความรับผิดชอบทางกฎหมายได้เพียงใด โดยทั่วไปบุคคลย่อมมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆตามกฎหมาย แต่อาจถูกจำกัดโดยกฎหมายได้เนื่องจากความเป็นเด็กหรือความบกพร่องทางสติปัญญา เช่น ผู้เยาว์ และคนไร้ความสามารถ
๑. ผู้เยาว์ คือ บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลจะบรรลุนิติภาวะเมื่อครบอายุ ๒0 ปีบริบูรณ์ หรือ เมื่อทำการสมรสโดยมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ หรือโดยอายุต่ำกว่านั้น แต่มีเหตุอันสมควรที่ศาลอนุญาตให้สมรสได้
ผู้เยาว์ถือว่ายังอ่อนทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา และประสบการณ์ จึงถือว่าหย่อนความสามารถในการใช้สิทธิทำนิติกรรมและสัญญา นิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง กฎหมายให้สิทธิบิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถยกเลิกได้ในภายหลัง

๒. คนไร้ความสามารถ คือ บุคคลวิตกจริต ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งผู้ดูแลซึ่งเรียกว่าผู้อนุบาลให้ เพื่อทำนิติกรรมต่างๆแทนเนื่องจากผู้วิตกจริตย่อมขาดสติไม่อาจเข้าใจความสำคัญของสิ่งใดๆ ที่ตนทำลงไปได้ จึงถือว่าหย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมและสัญญา
๑.๒) หลักฐานแสดงตัวบุคคล บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้พิสูจน์ตัวบุคคล ภูมิลำเนา และสถานะ บางอย่างของบุคคลได้ เพราะ
บัตรประจำตัวประชาชนออกโดยทางราชการ ระบุชื่อ วัน เดือน ปีเกิด ที่อยู่และรูปถ่ายเจ้าของบัตร จึงสามารถใช้เป็นหลักฐานทำการพิสูจน์ตนเอง อายุ และภูมิลำเนาได้ เมื่อต้องติดต่อกับทางราชการและบุคคลอื่นๆ
พระราชบัญญัติ
บัตรประจำตัวประชาชน(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ กำหนดให้บุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ ๗ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๗0 ปีบริบูรณ์ ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนเว้นแต่จะได้รับการยกเว้นจากทางราชการ เช่น ภิกษุ สามเณร เป็นต้น เมื่อเจ้าพนักงานที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปขอตรวจบัตรประจำตัวประชาชน หากบุคคลใดไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนแสดงก็จะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๒00 บาท
๒) กฎหมายเรื่องทรัพย์สิน ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดว่าสิ่งใดเป็นวัตถุ ซึ่งบุคคลสามารถยึดถือเป็นของตนได้ กำหนดวิธีได้มา ตลอดจนรับรองสิทธิต่างๆในสิ่งนั้นเพราะบุคคลโดยเฉพาะบุคคลธรรมดาย่อมต้องอาศัยสิ่งต่างๆที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค
แต่ในปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าของสังคม ทำให้กฎหมายให้ความคุ้มครองไม่เฉพาะสิ่งที่มีรูปร่างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง เช่น ความคิดสร้างสรรค์จากสมองของมนุษย์ที่คิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆขึ้น เรียกว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" อีกด้วย
๒.๑) ความหมายของทรัพย์สิน ทรัพย์ตามกฎหมาย คือ วัตถุที่มีรูปร่างสามารถมองเห็นได้ สัมผัสได้ และบุคคลสามารถถือเอาเป็นประโยชน์ได้ เช่น รถยนต์ เป็นต้น
สำหรับทรัพย์สินมีความหมายกว้างกว่าทรัพย์ เพราะความหมายรวมถึงทรัพย์และวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง ได้แก่ สิทธิต่างๆ เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิในการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สิทธิในการประพันธ์ เป็นต้น
๒.๒) ประเภทของทรัพย์สิน กฎหมายแบ่ง
ทรัพย์สินและประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สินออกเป็นหลายประเภท แต่ที่สำคัญ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ โดยกฎหมายให้ความสำคัญกับอสังหาริมทรัพย์มากกว่า เช่น ต้องแสดงสิทธิทางทะเบียนและนิติกรรมที่เกี่ยวข้องต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ต่างกับสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยทั่วไปกฎหมายจะไม่เข้มงวดมากนัก
ในทางกฎหมาย อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์สินซึ่งเคลื่อนที่ไม่ได้ ดังนี้
๑. ที่ดินและทรัพย์สินซึ่งติดอยู่กับที่ดินจะโดยธรรมชาติ เช่น ไม้ยืนต้นต่างๆ หรือโดยมีบุคคลนำมาติดในลักษณะตรึงไว้ถาวรกับที่ดิน เช่น ตึก บ้าน เป็นต้น
๒. ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน เช่น กรวด ทราย แร่ธาตุต่างๆในที่ดิน เป็นต้น
๓. สิทธิอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เช่น สิทธิครอบครองที่ดิน สิทธิจำนอง สิทธิอาศัย เป็นต้น
สำหรับ สังหาริมทรัพย์ ในทางกฎหมาย ได้แก่
๑. ทรัพย์ซึ่งเคลื่อนที่จากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเคลื่อนที่ด้วยแรงเดินของตัวทรัพย์เอง หรือเคลื่อนด้วยกำลังภายนอก เช่น ช้าง โต๊ะ เก้าอี้ ดินที่ขุดจากพื้นดิน เป็นต้น
๒. กำลังแรงของธรรมชาติที่อาจมีราคาและถือเอาได้ เช่น กระแสไฟฟ้า พลังน้ำตก พลังไอน้ำ เป็นต้น
๓.สิทธิทั้งหลายเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ เช่น กรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ สิทธิจำนำ และลิขสิทธิ์ เป็นต้น สำหรับไม้ล้มลุกและพืชประเภทเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อไป เช่น ข้าว กฎหมายกำหนดให้เป็นสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นเดียวกัน
๒.๓) สิทธิในทรัพย์สิน คือ ประโยชน์ที่บุคคลมีอยู่ในทรัพย์สิน ซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่สำคัญ ได้แก่ กรรมสิทธิ์ หมายถึง สิทธิในการเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมมีสิทธิครอบครอง ใช้สอย จำหน่าย จ่ายโอน ทำลายทรัพย์สิน และมีสิทธิได้ดอกผลจากทรัพย์สินนั้น เช่น ได้ผลไม้จากต้นไม้ของตน ได้ดอกเบี้ยจากเงินของตนที่ให้ผู้อื่นกู้ มีสิทธิติดตามและเรียกเอาทรัพย์สินของตนคืนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตลอดจนมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตามกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต้องอยู่ใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น เจ้าของปืนจะนำปืนของตนมายิงเล่นตามใจชอบในที่สาธารณะไม่ได้ เจ้าของบ้านจะเผาบ้านของตนเล่นจนน่าจะเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ได้ เป็นต้น
บุคคลจะมีสิทธิในทรัพย์สินได้โดยเหตุสำคัญ ๒ ประการ ดังนี้
๑. ได้มาตามบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมจะได้ลิขสิทธิ์ในผลงานที่ตนแต่งขึ้นและเป็นผู้เดียวที่มีสิทธิทำซ้ำหรือดัดแปลงงานนั้นได้ เป็นต้น
ทรัพย์สินบางอย่างจะได้มาโดยวิธีอื่นไม่ได้ นอกจากมีกฎหมายโอนให้เท่านั้น เช่น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ เป็นต้น
๒. ได้มาโดยผลของนิติกรรมและสัญญา เช่น ทายาทของผู้ตายได้รับทรัพย์สินเป็นมรดกตามพินัยกรรม ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาซื้อขาย ผู้เช่าได้สิทธิใช้และรับผลประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญาเช่าทรัพย์ เป็นต้น
๓) กฎหมายเรื่องละเมิด การละเมิดเป็นชื่อเฉพาะในกฎหมายสำหรับเรียกการกระทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายโดยผิดกฏหมาย ซึ่งวางหลักการทั่วไปไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า ผู้ใดกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาได้รับความเสียหายไม่ว่าแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือ สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง จะโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อก็ตาม ผู้นั้นได้ชื่อว่าทำละเมิดจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ได้รับความเสียหาย
สาระสำคัญของกฏหมายเรื่องละเมิดจึงเป็นการที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้บุคคลเคารพสิทธิ เสรีภาพต่างๆของผู้อื่นโดยทั่วไป ด้วยการไม่ก่อความเสียหายแก่สิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อ ก็ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากการทำละเมิดของตน
การละเมิดบางกรณีอาจเป็นความผิดทางอาญาด้วย เช่น ทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายโดยเจตนา ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ฐานถูกละเมิด และอาจฟ้องให้ผู้กระทำนั้นได้รับโทษทางอาญาได้ด้วย เป็นต้น
๓.๒ กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก
กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕0 ได้บัญญัติเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไว้ เพื่อให้รัฐต้องส่งเสริมและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว รับรองสิทธิของบุคคลในครอบครัว และกำหนดให้เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม เด็กและเยาวชนที่ไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมจากรัฐ
๑) กฎหมายครอบครัว บัญญัติข้อกำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางครอบครัว ตั้งแต่การหมั้นไปจนถึงการสมรส ความสัมพันธ์ในครอบครัวและการขาดจากความสัมพันธ์ในครอบครัว ได้แก่
๑.๑) การหมั้น เป็นการทำสัญญาระหว่างชายกับหญิงว่าต่อไปจะสมรสกัน ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์แต่ถ้าชายหรือหญิงยังเป็นผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียก่อน
ในการหมั้นฝ่ายชายจะให้ของหมั้นแก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานและประกันว่าจะสมรสกับหญิงด้วยของหมั้นนี้ เมื่อสมรสแล้วจะตกเป็นของฝ่ายหญิง แต่ถ้าไม่มีการสมรสอันเนื่องมาจากความผิดของฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย


การผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายที่เสียหายสามารถเรียกค่าทดแทนได้ แต่จะให้ศาลบังคับให้มีการสมรสไม่ได้ เพราะว่าการสมรสนั้นขึ้นกับความสมัครใจของผู้จะสมรสเท่านั้น
๑.๒) การสมรส เป็นการทำสัญญาตกลงเป็นสามีภริยากันระหว่างชายกับหญิงกฎหมายกำหนดเงื่อนไขของการสมรสไว้ ดังนี้
๑. การสมรสจะทำได้ ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณืแล้ว หากมีอายุต่ำกว่านี้ต้องให้ศาลอนุญาต ซึ่งจะต้องมีเหตุผลอันสมควร
๒. ชายหรือหญิงที่เป็นบุคคลวิตกจริตหรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถจะทำการสมรสไม่ได้
๓. ชายหรือหญิงที่เป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เช่น พ่อหรือแม่กับลูก พี่น้องร่วมบิดามารดากัน หรือเป็นพี่น้องร่วมแต่เพียงบิดาหรือมารดากันจะสมรสกันไม่ได้
๔. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้
๕. ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วไม่ได้
๖. หญิงที่เคยสมรสแล้วแต่สามีตาย หรือการสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดลงโดยเหตุอื่น เช่น การหย่า จะสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อการสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดไปแล้ว ไม่น้อยกว่า ๓๑0 วันเว้นแต่จะสมรสกับคู่สมรสเดิม คลอดบุตรระหว่างนั้น มีใบรับรองแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์หรือมีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
๗. ถ้าชายหรือหญิงฝ่ายใดมีอยุยังไม่ครบ ๒0 ปีบริบูรณ์ ฝ่ายนั้นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียก่อน
๘.การสมรสจะต้องจดทะเบียน โดยมีนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอและเป็นนายทะเบียน
๙. ชายหญิงจะต้องแสดงความยินยอมเป็นสามีภริยากัน โดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและนายทะเบียนต้องบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย
การสมรสที่ถูกต้องตามเงื่อนไขของกฎหมายก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ๒ ประการ ดังนี้
(๑) ความสัมพันธ์ทางครอบครัว กฎหมายกำหนดให้สามีภริยาต้องอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู กันตามความสามารถและฐานะของตน และในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ สามีหรือภริยาย่อมได้เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ และต้องเป็นการอุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร
(๒) ความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน กฎหมายแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นสินส่วนตัวและสินสมรส
๑. สินส่วนตัว ได้แก่ ทรัพย์สินที่สามีหรือภริยามีอยู่ก่อนสมรส เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส โดยการยกให้หรือรับมรดก สำหรับภริยาของหมั้นจะถือเป็นสินส่วนตัวของภริยาทั้งนี้สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมเป็นผู้มีอำนาจจัดการ
๒. สินสมรส ได้แก่ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยการยกให้หรือโดยพินัยกรรม ซึ่งระบุให้เป็นสินสมรสรวมทั้งดอกผลที่เกิดจากสินส่วนตัวด้วย สามีภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันโดยการจัดการจะต้องได้รับความยินยอมร่วมกัน เว้นแต่จะตกลงไว้เป็นอย่างอื่นโดยสัญญาก่อนสมรสหรือศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นผู้จัดการแต่ฝ่ายเดียว
เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงจะต้องมีการแบ่งสินสมรสระหว่างชายกับหญิงโดยนำสินสมรสมาแบ่งเท่าๆกันแต่ถ้าฝ่ายใดจำหน่ายสินสมรสไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องนำสินส่วนตัวของตนเองมาชดใช้สินสมรสที่ตนจำหน่ายไป
ในทางกฎหมายการสมรสจะสิ้นสุดลงด้วยปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้
๑. ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมษะ หรือโมฆียะ หรือให้เพิกถอนการสมรสเพราะทำการสมรสโดยผิดเงื่อนไข
๒.คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย
๓. การหย่า ได้แก่ การอย่าโดยความยินยอมของทั้ง ๒ ฝ่าย ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อย ๒ คน โดยต้องมีการจดทะเบียนการอย่าและการอย่าโดยคำพิพากษาของศาล ได้แก่ คู่สมรสไม่อาจตกลงอย่ากันโดยความยินยอมได้ ฝ่ายที่ต้องการอย่าจึงฟ้องต่อศาลให้ศาลพิพากษาให้อย่าโดยต้องอ้างเหตุอย่า ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้หลายประการด้วยกัน เช่น สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ โดยปกติสุขตลอดมาเกิน ๓ ปีหรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งศาลเป็นเวลาเกิน ๓ ปีเป็นต้น
๑.๓) ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบบุตร สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
๑. การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและการรับรองบุตร เด็กที่เกิดจากบิดามารดาซึ่งจดทะเบียนสมรสกันแม้จะมีการเพิกถอนภายหลังก็ตาม หรือเกิดภายใน ๓๑0 วันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง กฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เคยเป็นสามี เว้นแต่จะมีการฟ้องคดีไม่รับเด็กนั้นเป็นบุตรภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็กหรือฟ้องเสียภายในสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก
เด็กซึ่งเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน ย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาฝ่ายเดียวเท่านั้น จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาด้วยต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันภายหลัง โดยมีผลนับตั้งแต่วันสมรสหรือเมื่อบิดาจดทะเบียนรับเป็นบุตร โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาของเด็กและจะมีผลตั้งแต่วันจดทะเบียน
ในกรณีที่เด็กหรือมารดาไม่ให้ความยินยอมหรือคัดค้านว่าผู้ที่ขอจดทะเบียนรับรองบุตรไม่ใช่บิดา หรือในกรณีที่ต้องมีการฟ้องชายเพื่อขอให้รับเด็กเป็นบุตร หากศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย่อมมีผลนับแต่วันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เป็นบุตรนั้นมีสิทธิ เช่น ใช้ชื่อสกุลของบิดา รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมได้ เป็นต้น ส่วนผู้รับรองบุตรก็สามารถใช้อำนาจปกครอง รวมทั้งต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นต่อไป
๒. การรับบุตรบุญธรรม หมายถึง การจดทะเบียนรับบุตรของผู้อื่นมาเลี้ยงดูเป็นบุตรของตนเอง โดยดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขพื้นฐานรวมทั้งความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมไว้ ประกอบกับพระราชบัญญัติการรับบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมยิ่งขึ้น เช่น ในกรณีที่ขอรับบุตรบุญธรรมของผู้ที่ไม่ใช่เครือญาติกับเด็กจะมีการทดลองเลี้ยงดู มีการตรวจสอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และความเหมาะสมของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เป็นต้น
เงื่อนไขพื้นฐานของการรับบุตรบุญธรรม ประกอยด้วย อายุและความยินยอม คือ บุคคลที่จะรับผู้อื่นเป็นบุตรบุญธรรมได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ และต้องแก่กว่าผู้ที่ตนจะรับเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย ๑๕ ปี และถ้าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ การรับบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาโดยกำเนิดของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม และต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อนด้วย
การจดทะเบียนรับ
บุตรบุญธรรมมีผลให้บุตรบุญธรรมมีฐานะเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม เช่น มีสิทธิใช้ชื่อสกุล มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม
ผู้รับ
บุตรบุญธรรมมีอำนาจปกครองและมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดู แต่ไม่มีสิทธิรับมรดกในส่วนของบุตรบุญธรรม และจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้ ส่วนบิดามารดาโดยกำเนิดเป็นอันหมดอำนาจปกครอง
อย่างไรก็ตาม
บุตรบุญธรรมไม่สูญเสียสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่กำเนิดมา เช่น มีสิทธิรับมรดกของบิดามารดาโดยกำเนิด การรับบุตรบุญธรรมมีทางเลิกได้โดยการจดทะเบียนเลิก ตามความยินยอมของบุตรบุญธรรมที่บรรลุนิติภาวะแล้วกับผู้รับบุตรบุญธรรม หรือเมื่อมีการสมรสระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรม
๑.๔) สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดา
บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรระหว่างที่บุตรยังเป็นผู้เยาว์ หรือแม้บุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ บิดามารดาก็ยังมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อไประหว่างที่บุตรเป็นผู้เยาว์
บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร โดยมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตร ทำโทษบุตรตามสมควร หรือว่ากล่าวสั่งสอนให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูปมีสิทธิเรียกบุตรคืนจากผู้อื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นผู้แทนโดนชอบธรรมของบุตรในการฟ้องคดี และมีสิทธิจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วย
ถ้าบุตรมีเงินได้ บิดามารดามีสิทธินำมาใช้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของบุตรส่วนที่เหลือต้องเก็บรักษาไว้เพื่อมอบแก่บุตรภายหลัง เว้นแต่บิดามารดาจะยากจนไม่มีเงินได้พอแก่การครองชีพ จึงอาจนำเงินนั้นมาใช้ได้
กรณีที่บิดามารดาตายหรือถูกศาลสั่งถอนอำนาจปกครอง เพราะวิตกจริตหรือประพฤติไม่เหมาะสม ศาลมีอำนาจตั้งผู้ปกครองให้บุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์ เพื่ออุปการะเลี้ยงดูและให้ความคุ้มครองแก่ผู้เยาว์นั้นแทนบิดามารดาได้
๑.๕) สิทธิและหน้าที่ของบุตร บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา เว้นแต่ไม่ปรากฎบิดาให้ใช้ชื่อสกุลของมารดา บุตรมีสิทธิได้รับ
อุปการะเลี้ยงดูและได้รับการศึกษาตามสมควรจากบิดามารดา แต่บุตรมีหน้าที่ต้องดูแล บิดามารดาของตนเป็นการตอบแทนบุญคุณ
โดยบุตรจะฟ้องบิดามารดา รวมทั้งบุพการีอื่นของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาไม่ได้ ต้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีขึ้นว่ากล่าวให้
๒) กฎหมายเรื่องมรดก มีเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะของมรดกและผู้ที่จะมีสิทธิรับมรดก หรือทายาท โดยมรดกหรือกองมรดก ได้แก่ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆของผู้ตายหรือเจ้าของมรดกซึ่งเมื่อผู้ใดถึงแก่ความตาย มรดกของเขาย่อมตกทอดแก่ทายาททันที เว้นแต่สิ่งที่กฎหมายหรือตามสภาพแล้วถือเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ย่อมไม่ตกทอดเป็นมรดก เช่น สิทธิรับราชการ เป็นต้น
กรณีที่บุคคลใดหายไปจากที่อยู่โดยไม่ได้ข่าวคราวเป็นเวลานาน ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ ซึ่งกฎหมายถือเสมือนว่า ถึงแก่ความตาย และมรดกของผู้สาบสูญย่อมตกทอดแก่ทายาทเหมือนกรณีตายจริงๆ
ทายาท คือ ผู้ทีสิทธิได้รับมรดกในทางกฎหมาย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑. ทายาทโดยธรรม เป็นทายาทที่ทีสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ ญาติ คู่สมรสและทายาทที่เป็นญาติ แบ่งออกเป็น ๖ ลำดับ คือ ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ย่า ตายาย และลุง ป้า น้า อา ซึ่งสิทธิได้รับมรดกและส่วนแบ่งที่จะได้รับจะลดลงตามลำดับความห่างของญาตินั้นๆ เช่น ถ้าคู่สมรส บุตร และบิดามารดาของผู้ตายยังอยู่ ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายโดยเท่าเทียมกัน โดยคู่สมรสมีสิทธิได้รับหนึ่งส่วน บุตรแต่ละคนมีสิทธิได้รับคนละส่วน และบิดามารดาของผู้ตายมีสิทธิได้รับคนละหนึ่งส่วน กล่าวคือ บิดาหนึ่งส่วนและมารดาหนึ่งส่วน ในกรณีเช่นนี้ญาติอื่นไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายอีก เพราะได้ถูกตัดโดยญาติสนิทกว่าของเจ้าของมรดกแล้ว
๒. ทายาทตาทพินัยกรรม ได้แก่ ผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามที่พินัยกรรม ซึ่งเป็นหนังสือแสดงความประสงค์สั่งการเผื่อตายของผู้ตายระบุไว้ โดยทายาทพวกนี้อาจเป็นญาติของผู้ตายหรือไม่ก็ได้แล้วแต่ผู้ตายจะตั้งใจยกมรดกของตนให้แก่ผู้ใดบ้าง
ในกรณีที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกมรดกของตนให้ทายาทตามพินัยกรรมทั้งหมด ทายาทโดยธรรมย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย แต่บุคคลจะทำพินัยกรรมยกมรดกได้เฉพาะทรัพย์สินของตนเท่านั้น ในกรณีที่ตนมีคู่สมรสก็จะต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาก่อน ส่วนของตนจึงเป็นมรดกตกทอดต่อไปได้ แต่ถ้าในกรณีที่ผู้ตายไม่ได้ ทำพินัยกรรมไว้ และไม่มีทายาท มรดกผู้ตายก็จะตกได้แก่แผ่นดิน คือ ตกเป็นของรัฐบาลไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น